< Orange Pi > รู้จักกับ Orange Pi
ตอนแรกก็ไม่ได้รู้จักบอร์ดในตระกูล Orange Pi หรอกนะครับ แต่ได้ใช้ Raspberry Pi 2 มาก่อน ซึ่งตัวบอร์ดเองก็มีราคาที่ถูกอยู่แล้ว (35$ หรือประมาณ 1200 บาทเท่านั้น) แต่ต่อมา Raspberry Pi Foundation ได้ออกบอร์ดรุ่นใหม่ออกมา เป็น Raspberry Pi Zero ซึ่งมาในราคาที่ถูกกว่า (5$ – 4 ปอนด์หรือประมาณ 180 บาท) แต่หลังจากพยายามหาซื้อ พักใหญ่
พบว่ามีเพียงไม่กี่ร้านเท่านั้นที่มีจำหน่าย ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในยุโรป และอเมริกา หากสั่งซื้อจากยุโรปจะเสียค่าขนส่ง 5ปอนด์ หรือประมาณ 228.60 บาท เมื่อรวมกับค่าบอร์ดแล้วจะมีราคาประมาณ 410 บาท ซึ่งนี่ก็นับว่าไม่แพงนะครับ แต่เมื่อต้องเสียภาษีศุลกากรน่าจะประมาณ 10% และภาษีมูลค่าเพิ่มอีก 7% รวมแล้ว น่าจะจบประมาณ 480 บาทเท่านั้น
แต่ราคานี้นั้น เราเพิ่งจะได้แค่บอร์ดเท่านั้น ซึ่งบอร์ดนั้นไม่มี I/O หลายอย่าง เช่นไม่มี Ethernet ไม่มี WIFI ไม่มี USB Host Port ทำให้ต้องมีการซื้อเพิ่ม อย่าง USB Hub ที่มี Ethernet ด้วยนั้นมีราคาถึง 4xx บาท โดยรวมแล้ว เพื่อการใช้งาน อาจจะทำให้ราคารวมอยู่ประมาณ 900 บาท ซึ่งราคานี้ หากเพิ่มอีกเพียงเล็กน้อย ก็จะได้บอร์ด Raspberry Pi B+ ได้เลย แล้วหากเราต้องการใช้หลายๆ ชุดล่ะ (ประเด็นคือหลังจากซื้อมาทดสอบใช้งานแล้ว หลังจากนี้ผมต้องซื้อเพิ่มมาใช้อีกหลายชุดในงบประมาณค่อนข้างจำกัด) เท่าที่ได้สอบถามไปทางผู้จำหน่าย พบว่าเขามีจำกัดจำนวนที่ขาย 1 บอร์ดต่อ 1 คน และไม่มีนโยบายขายนอกอเมริกา และยุโรป ในจำนวนมากๆอีกด้วย ทำให้หากต้องการจะสั่งหลายๆบอร์ดนั้น จะต้องใช้หลาย Account รวมถึงการไม่สามารถรวมค่าขนส่งอีกด้วยดังนั้นการหันมามองทางเลือกอื่นๆบ้าง ก็น่าสนใจไม่น้อย แน่นอนที่แรกที่นึกถึงเลยคือ ประเทศจีน ที่นั่นเขามี Raspberry Pi clone บ้างรึเปล่านะ… หึๆ หลังจากหาอยู่นาน พบว่าไม่มีครับ!!! แต่ก็ได้พบกับเพื่อเก่าที่ไม่คิดว่าจะได้เห็น คือ FriendlyArm และมีบอร์ดใหม่เป็น Nano Pi M1 ที่มาพร้อมกับ CPU AllWinner H3 ในราคา 12$ (สำหรับ RAM 512MB ส่วนรุ่น 1 GB นั้นเพิ่มอีก 3$) หรือประมาณ 420 บาท แต่มีทั้ง Ethernet Port , HDMI , USB 2.0 อีก 3 Port เลย น่าสนใจมากๆ และค่าขนส่งอยู่ที่ 10$ (350 บาท) แต่เมื่อสั่งจำนวนมาก ค่าขนส่งจะไม่สูงขึ้นมากนัก เช่น เมื่อสั่งจำนวน 5 บอร์ด ค่าขนส่งจะอยู่ที่ 16$ (560 บาท เหลือเฉลี่ยประมาณ 110บาทต่อบอร์ด) นับว่าน่าสนใจมากทีเดียว
และต่อมาก็พบบอร์ดตระกูล Orange Pi ซึ่งใช้ CPU AllWinner H3 เช่นกัน โดย Orange Pi นั้นมีหลายรุ่น ซึ่งรุ่นที่ดูแล้วน่าซื้อมาทดลองเล่นมาก นั้นเป็นรุ่น Orange Pi One เพราะราคาถูกที่สุด เพียง 9.99$ (ประมาณ 350 บาทเท่านั้น) ค่าขนส่งมีให้เลือกได้หลายราคา หากรอไหว 2-4 สัปดาห์ ก็ส่งแบบธรรมดาในราคา 3$ กว่าๆ (ประมาณ 100 บาท) หรือจะรีบๆ ใช้แบบเร่งด่วน Fedex ก็มีราคาราวๆ 18$ (ประมาณ 630 บาท) และหากซื้อหลายๆชิ้น ค่าขนส่งก็ไม่ได้เพิ่มขึ้นมากนัก
แต่สิ่งสำคัญในความสำเร็จของ Raspberry Pi นั้น นอกเหนือไปจากเรื่องของราคาแล้ว เรื่องของชุมชนนักพัฒนาเป็นอีกหนึ่งเงื่อนไขสำคัญมากในความสำเร็จของ Raspberry Pi ซึ่งยากที่บอร์ดอื่นจะลอกเลียนแบบได้ ดังนั้นจึงต้องทำการสำรวจในโลกออนไลน์ก่อนว่า มีใครใช้บอร์ดตระกูลนี้กันบ้างไหม มี OS ตัวไหนรองรับบ้าง มีใครใช้มันทำอะไรได้บ้าง และคนที่ใช้มันเจอปัญหาอะไรบ้าง มีคนเข้ามาตอบกันมากแค่ไหน และที่สำคัญมีภาษาอะไรบ้าง และมีมากแค่ไหน
ผมเคยใช้ Mini2440 ของ FriendlyArm เมื่อครั้งอดีต ต้องยอมรับว่ามันไม่ใช่ประสบการณ์ที่ดีนัก กับคู่มือภาษาจีน เครื่องมือในการพัฒนาที่คับแคบ และข้อมูลตัวอย่างที่น้อยนิด แต่เท่าที่สำรวจ AllWinner H3 มีผู้ใช้งานอย่างกว้างขวางมาก มีตัวอย่างเยอะพอสมควร และกระจายอยู่บนหลายๆ OS ในตระกูล Linux ซึ่งแน่นอน มันก็ตามมาด้วยปัญหาอีกมากมาย เช่นการต่อ USB WIFI Dongle ไม่ได้ โปรแกรมทำงานชนกันบ้าง ไปจนถึงปัญหาความร้อน เนื่องจากการตั้งค่าความเร็ว และแรงดันไฟสำหรับ CPU ที่มากเกินไป เรียกได้ว่าเจอตั้งแต่ปัญหาเล็กๆจุกจิก ไปจนถึงปัญหาใหญ่ๆเลยทีเดียว
แต่ปัญหาส่วนใหญ่ มีทางออกไว้แล้ว และมีการแก้ไขใน Distro รุ่นถัดไปอย่างสม่ำเสมอมาก ซึ่งนั่นนับว่าน่าสนใจทีเดียว และสามารถไว้ใจได้ว่า เมื่อครอบครองมันแล้ว เราคงไม่ถูกลอยแพ แต่แค่ต้องการเวลาในการแก้ปัญหาเท่านั้น (บางปัญหาเห็นเป็นมาตั้งแต่ปี 2012 มาจนถึงปัจจุบัน ก็ยังคงอยู่ แต่ปัญหานี้ ก็มีในตัวแพลตฟอร์มอื่นๆเช่นกัน) ดังนั้นจึงค่อนข้างสบายใจได้ว่าปัญหาที่จะเจอคงไม่หนักหนาสักเท่าไหร่
ในเมื่อเลือกแล้วว่า ตระกูล AllWinner H3 นี่แหละที่น่าจะลอง แต่ตระกูลนี้ก็มีหลากหลายรุ่นเหลือเกิน ในราคาที่ไม่ต่างกันมากอีกด้วย แล้วจะเริ่มรุ่นไหนดี เท่าที่สำรวจดูก็พบว่า มีอยู่ 3 ผู้ผลิตให้เลือกคือ Orange Pi, Banana Pi และ FriendlyArm ผมตัด Banana Pi ออกไปก่อนเลย เพราะว่าราคาเบื้องต้นโหดเกินไป แม้ว่าจะได้สเปกที่โหดตามก็ตาม แต่แล้วยังไงถ้ามันใช้ไม่ได้ก็จะได้แค่เก็บเอาไว้ดองเท่านั้นเอง จากนั้นก็จะเหลือผู้ท้าชิงอีกแค่ 2 เจ้าเท่านั้น ใน 2 เจ้านี้ หากผมเทียบอย่างเท่ากันแล้ว Nano Pi M1 รุ่น RAM 1GB นั้น จะมีราคาพอๆกับ Orange Pi PC ในราคา 15$ เลยทีเดียว แต่ตัวล่างสุดของ Orange Pi นั้นคือ Orange Pi One ที่มีราคาเพียง 9.99$ เท่านั้น แต่อะไรคือข้อแตกต่างในราคา 5$ นี้ ที่เห็นแน่ๆคือ RAM จาก 512 ไปเป็น 1GB และ USB Port ที่ใน Orange Pi One มีมาให้เพียง 1 Port เท่านั้น แค่นี้เท่านั้นหรอ?
เท่าที่ได้เปิดดูใน Schematic ยังพบความแตกต่างอีกพอสมควร นั่นคือตัว PMIC หรือ Power Management IC เป็น IC ที่ควบคุมการจ่ายไฟให้กับ CPU โดยในรุ่น Orange Pi PC นั้น มันสามารถปรับแรงดันไฟฟ้าได้ จาก 1.0 โวลต์ ไปจนถึง 1.3 โวลต์กว่าๆเลย และนั่นทำให้สัญญาณนาฬิกาของ CPU สามารถปรับได้กว้างมาก ตามระดับพลังงานที่มันได้ (ซึ่งหลังจากได้มาลองเล่นดูแล้ว พบว่าเรื่องแรงดันไฟนี้ สำคัญมากต่อประสิทธิภาพ และระดับความร้อนของ CPU แต่เรื่องมันยาว ไว้คราวหน้าจะกล่าวถึงครับ) และก็มีอุปกรณ์อื่นๆที่ต่างกันเล็กน้อยเท่านั้น
ในเมื่อทั้ง Schematic ที่คล้ายกันมาก และราคาที่ใกล้กันจริงๆ ผมเลยตัดสินใจซื้อของถูกดีกว่า
ดังนั้นหวยจึงออกที่ Orange Pi One โดยซื้อมา 2 ตัวพร้อมกับ Case , Power Adapter 5V3A และ SD Card ด้วยเลย ในราคา 20$ ต่อชุด พ่วงด้วย HDMI to VGA อีก 2 ตัว ทั้งหมดนี้มาในราคาประมาณ 70$ หรือประมาณ 2500 บาท
มาเสียค่าจัดการ ภาษีศุลกากรประมาณ 10% และ มูลค่าเพิ่มอีก 7% ก็จบไปอีก 500 บาท รวมแล้วประมาณ 3000 บาท กับบอร์ดทั้งหมด 2 ชุด