[Chip Hall of Fame] ก้าวที่ยิ่งใหญ่ของวงการถ่ายภาพ Image Sensor ตัวแรก KODAK : KAF-1300

ในประวัติศาสตร์ของนวัตกรรมและการประดิษฐ์มีงานพัฒนามากมายที่เปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตของผู้คนทั่วโลก สิ่งประดิษฐ์ชิ้นสำคัญก่อกำเนิดจากมุมมองและแนวคิด ที่เปี่ยมไปด้วยคุณภาพจากนักประดิษฐ์ที่ทำงานให้กับองค์กรยักษ์ใหญ่ หากมองจากวันนี้องค์กรนั้นควรจะกลายเป็นเสือติดปีกได้ แต่มันก็ไม่ได้เป็นเช่นนั้นเสมอไป และนี่ก็เป็นอีกครั้งหนึ่งกับเรื่องราวของเซ็นเซอร์ภาพที่วางจำหน่ายตัวแรกของโลก โดยบริษัทผลิตกล้องยักษ์ใหญ่อย่าง KODAK เรากำลังจะเล่าถึง KAF-1300 Image Sensor ครับ

เจ้าพ่อยักษ์ใหญ่แห่งวงการกล้องอย่าง KODAK ให้ความสนใจในการพัฒนาเซ็นเซอร์ดิจิตอลสำหรับถ่ายภาพมานานแล้ว โดยคงต้องย้อนไปถึงปี 1975 Steven Sasson  วิศวกรของ KODAK ได้พัฒนากล้องดิจิตอลตัวแรกออกมา โดยใช้เซ็นเซอร์ CCD 100×100 พิกเซลจาก Fairchild Semiconductor นั่นคือกล้องดิจิตอลตัวแรกของโลกและพัฒนาต่อมาจนในปี 1986 KODAK ก็สามารถพัฒนาเซ็นเซอร์ความละเอียด 1.4 ล้านพิกเซลได้สำเร็จ

แต่กว่าจะกลายมาเป็นกล้องดิจิตอลตัวแรกได้ ก็ต้องรอไปถึงปี 1991 KODAK จึงสามารถปล่อย KODAK DCS ( KODAK DCS-100 ) ออกมาได้ โดยใช้เซ็นเซอร์ KAF-1300 ความละเอียด 1.3 ล้านพิกเซล ในร่างของ Nikon F3 SLR ที่พ่วงด้วยกระเป๋าเก็บข้อมูล น้ำหนักราว 5 กิโลกรัม พร้อมสายสะพาย ทั้งหมดนี้มาในราคา 25,000 ดอลลาร์

กล้อง KODAK DCS-100 ในร่างของ NIKON F3 พร้อมด้วยกล่องบันทึกข้อมูล By John (Flickr: Early digital!) [CC BY 2.0], via Wikimedia Commons

หัวใจของ KODAK DCS-100  นั้นคือเซนเซอร์รับภาพที่มีขนาดเพียงหัวแม่มือ แต่สามารถให้ความละเอียดของภาพมากถึง 1.3 ล้านพิกเซล มันมากพอสำหรับพิมพ์ลงบนกระดาษขนาด 5″x7″ ได้

“ในเวลานั้น ความละเอียดที่สูงกว่า 1 ล้านพิกเซล เป็นตัวเลขที่มหัศจรรย์มาก”
– Eric Stevens หัวหน้าทีมออกแบบชิป

KAF-1300 ใช้เทคนิค Two Phase Charge Couple Device ( หน้า 8 ในเอกสารอ้างอิง ) ซึ่งกลายเป็นพื้นฐานของ CCD ในเวลาต่อมาและ KAF-1300 มีส่วนช่วยอย่างมากในการปฏิวัติวงการถ่ายภาพให้ก้าวเข้าสู่โลกดิจิตอลอย่างเต็มตัวได้ง่ายขึ้นมาก

กล้อง KODAK DCS-420 ในโครงของ NIKON N90 ในปี 1994 By GcG(WPJA) (Own work) [GFDL or CC BY-SA 3.0], via Wikimedia Commons

ถึงแม้ว่า KODAK จะพยายามอย่างมากในการพัฒนาเซ็นเซอร์รับภาพแบบดิจิตอล หลังจากที่ปล่อย KODAK DCS-100 ออกมาแล้ว ก็ยังคงมีการปล่อยรุ่นอื่นๆตามมาในภายหลังอีกไม่น้อย ในเวลาที่การพัฒนาเซ็นเซอร์รับภาพยังคงอยู่ในช่วงเริ่มต้น แต่น่าเสียดายที่ KODAK กลับไม่ได้มีนโยบายที่จะทำกล้องดิจิตอลจำหน่ายเอง แต่เลือกที่จะขายชิปเซ็นเซอร์ให้กับผู้ผลิตกล้องรายอื่นๆ เท่านั้น KODAK จึงดูเหมือนจะไม่ค่อยจริงจังกับการพัฒนากล้องดิจิตอลมากเท่าที่ควร โดยเฉพาะกล้องที่ขายในสำหรับใช้งานทั่วไป แต่ด้วยเทคโนโลยีสารกึ่งตัวนำที่พัฒนาไปอย่างรวดเร็ว บริษัทเทคโนโลยีผู้ผลิตสารกึ่งตัวนำอื่นๆ ก็ได้กระโดดลงมาแข่งขันในตลาดนี้ และยังส่งผลให้ผู้ผลิตกล้องฟิล์มหันมาพัฒนาชิปเซ็นเซอร์ภาพของตนเองกันมากขึ้น ราคาของกล้องจึงถูกลงอย่างรวดเร็ว สวนทางกับยอดจำหน่ายที่มีอัตราการเติบโตอย่างก้าวกระโดด สิ่งเหล่านี้ได้บีบให้กล้องฟิล์มเกิดการหดตัวลงอย่างรุนแรง KODAK ที่เคยเป็นผู้บุกเบิกการพัฒนาชิปเซ็นเซอร์ภาพ และขายเซ็นเซอร์ภาพของตนเอง จึงกลับกลายมาเป็นองค์กรที่ประสบปัญหาภาวะล้มละลายในปี 2012 ( ในปีนั้นโลกรู้จัก IPhone แล้ว ) เนื่องจากการสูญเสียตลาดในกล้องฟิล์มไปอย่างมาก แต่หลังจากที่บริษัทล้มละลายและได้ตัดแผนกที่ไม่สร้างรายได้ออกไปจำนวนมากแล้ว บริษัทร่วมทุนอย่าง Intellectual Ventures และ RPX Corporation ก็ได้เข้าควบรวมกิจการของ KODAK ไป เพื่อสิทธิ์ในการใช้งานสิทธิบัตรมูลค่ามหาศาลที่ KODAK ยังคงครอบครองอยู่…

อ้างอิง

https://spectrum.ieee.org/tech-history/silicon-revolution/chip-hall-of-fame-kodak-kaf1300-image-sensor
https://en.wikipedia.org/wiki/Kodak_DCS
http://www.nikonweb.com/dcs100/
http://www.ece.iit.edu/~pfelber/ccd/project.pdf

รูป

“DCS 420”. base camera is Nikon N90 – https://en.wikipedia.org/wiki/File:Digitalback_dcs420_01.jpg
Kodak DCS 100, based on a Nikon F3 body with a monstrous Digital Storage Unit – https://en.wikipedia.org/wiki/File:Early_digital!.jpg

**บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของบทความชุด Chip Hall of Fame ซึ่งแปลมากจาก IEEE Spectrum คุณสามารถดูตอนอื่นๆได้ที่หน้ารวมบทความ
[Chip Hall of Fame] ชิปวงจรรวมในตำนาน #เกริ่นนำ หรือ แท็ก Chip Hall of Fame